... ...
... ...

Wednesday, July 1, 2015

‘บิ๊กตู่’เล็งคุยนศ.สงบศึก ปัดนิรโทษ สั่งหาโม่งการเมืองชักใย


‘บิ๊กตู่’เล็งคุยนศ.สงบศึก
ปัดนิรโทษ
สั่งหาโม่งการเมืองชักใย
แฉ‘พรชัย’1ใน14นักศึกษา
ถูกจับคาบ่อนไฮโซทองหล่อ
‘พระสุเทพ’เชื่อมีคนบงการ
กลุ่มต่อต้านรุมจี้ให้ปล่อยตัว
เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ว่า ขณะนี้กำลังหามาตรการเปิดช่องทางการพูดคุยเพื่อให้เกิดการยุติ เพราะตนเองก็ไม่สบายใจในการใช้กฎหมายกับนักศึกษา ขณะเดียวกันต้องมองอีกแง่มุมหนึ่งว่า พฤติกรรมที่แสดงออกมาว่า เป็นอย่างไร เป็นกิริยาของเด็กที่บริสุทธิ์หรือไม่ มีการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ซึ่งต้องมีการพิสูจน์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อเสนอจากบางฝ่ายต้องการให้



ใช้มาตรา44 นิรโทษกรรมความผิดให้แก่นักศึกษามีความเป็นไปได้หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ตนไม่ทำ ทำไม่ได้ เพราะถ้าทำแล้ว ก็จะต้องมีการใช้มาตรา 44 เพื่อนิรโทษกรรมให้กับบุคคลคนอื่นและจะทำให้ไม่มีวันจบสิ้นกระบวนการ
คสช.ลั่นยึดกระบวนการยุติธรรม
ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย(อียู)และสำนักงานข้าหลวงใหญ่ฯสหประชาชาติ (ยูเอ็นโอเอชซีเอชอาร์) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนคณะอาจารย์และนักวิชาการ เรียกร้องให้ คสช.ปล่อยตัว14นักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ว่า เป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านมาการบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่พยายามรักษาให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกันของบุคคลในทุกสถานะ โดยพิจารณาใช้ให้สมดุลเหมาะสม กรณีของนักศึกษาที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่พยายามอะลุ้มอล่วย เพราะเข้าใจถึงสถานะและวุฒิภาวะ โดยเริ่มจากการว่ากล่าวตักเตือนและการขอความร่วมมือเป็นหลัก ส่วนทางคดีเป็นเรื่องของดุลพินิจของเจ้าหน้าที่หลักๆที่เกี่ยวข้องกับคดีอาญาด้านความมั่นคงด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อมีการตั้งข้อกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาสามารถไปแก้ต่างได้ตามเหตุผลและพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นไปตามหลักสากลทั่วไป
ชี้โทษไม่รุนแรง-แฉมีเจตนาแฝง
ส่วนกรณีที่ยูเอ็นมองว่า ไม่มีความจำเป็นดำเนินคดีอาญาที่มีโทษจำคุกยาวนานต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบนั้น พ.อ.วินธัย กล่าวว่า เป็นการได้รับข้อมูลไม่ครบ คงต้องดูเป็นกรณีๆไปว่า การใช้เสรีภาพนั้นๆ ขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เพราะกรณีโทษที่ได้รับจากกรณีฝ่าฝืนประกาศคำสั่ง คสช.ที่ว่าห้ามชุมนุมสุดท้ายจะมีโทษปรับกับโทษจำคุกไม่กี่เดือน แต่ถ้ากรณีถูกมองว่าเข้าข่ายความผิดในคดีอาญาด้านความมั่นคงจริง บทลงโทษคงรุนแรงกว่า แต่เป็นบทลงโทษที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายอาญาเดิมอยู่แล้ว ทั้งนี้การแสดงความคิดเห็นสามารถทำได้ภายใต้ช่องทางที่เหมาะสม เพียงแต่ขณะนี้มีบางส่วนที่มีเจตนาแอบแฝง พยายามสร้างเงื่อนไขเพื่อให้สถานการณ์พัฒนาไปสู่ความขัดแย้งให้มากขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่รับทราบดีจึงพยายามดำเนินการต่างๆ อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาด้วยความระมัดระวัง
อ้างใช้สิทธิ์ไปละเมิดกม.ไม่ได้
“มั่นใจว่าการดำเนินการใดๆของภาครัฐเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความจำเป็นของสถานการณ์ทุกประการ ทั้งนี้เพื่อให้สังคมประเทศชาติเกิดความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีความสุข ไม่เกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์อย่างอดีต ขอย้ำว่าประเทศไทยยึดถือตามพันธกรณีของไทย ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ว่าด้วยการปฎิบัติตามหลักสากล สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่จะต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่นและไม่ทำให้สังคมโดยรวมวุ่นวาย หากองค์กรต่างประเทศกังวลใจในเรื่องนี้ สามารถประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามช่องทางที่เหมาะสมระหว่างประเทศได้อยู่แล้วและหากพิจารณาตามข้อมูลที่ครบถ้วนและรอบด้านจากทุกฝ่ายแล้วจะเห็นว่า เจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา ใช้ทั้งหลักรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์และความเป็นสังคมไทย เชื่อว่าสังคมไทยและประชาคมโลกมีความเข้าใจในบริบทดังกล่าวอย่างแน่นอน’ พ.อ.วินทัย กล่าว
‘เต้น’ค้านนิรโทษอ้างไม่ได้ทำผิด
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.กล่าวว่า การคุมขังนักศึกษาโดยกล่าวอ้างกฎหมายอยู่ตลอดเวลานั้น เป็นการสะท้อนภาวะแห้งแล้งในจิตใจผู้มีอำนาจ ข้อกล่าวหาจากรัฐบาลอำนาจพิเศษว่า การเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาผิดกฎหมายนั้น จึงไม่มีทางได้รับการยอมรับและสุ่มเสี่ยงจะบานปลาย เนื่องจากสิ่งที่ใช้อยู่แท้จริงแล้วไม่ใช่กฎหมาย แต่คืออำนาจที่ยึดไปตั้งแต่ 22พฤษภาคม2557 การปล่อยตัวทั้ง 14 คนโดยไม่ดำเนินคดีใดๆ การยืนกรานรักษากฎหมายจากคณะที่ลงมือฉีกรัฐธรรมนูญไม่ใช่คำอธิบายที่สังคมประชาธิปไตยจะเข้าใจได้ ทั้งนี้ ตนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ใช้มาตรา 44 นิรโทษกรรม เพราะสิ่งที่นักศึกษากลุ่มนี้ทำไม่ใช่ความผิด เมื่อไม่ผิดจะต้องนิรโทษกรรมเรื่องอะไร หรือหากศาลทหารจะตัดสินว่าผิด กระบวนการในคดีนี้ก็เกิดแผลเป็นรอยใหญ่ไปแล้วตั้งแต่การเปิดศาลกลางวิกาลเพื่อส่งเข้าเรือนจำ
‘พระสุเทพ’เชื่อมุ่งดิสเครดิตคสช.
ที่วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี พระสุเทพ ปภากโร (สุเทพ เทือกสุบรรณ) เลขาธิการ กปปส.ให้สัมภาษณ์กรณีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวของนักศึกษาเพื่อต่อต้านการรัฐประหารฯอาจมีนักการเมืองสนับสนุนว่า อาตมาเชื่อว่ามีขบวนการที่ปั่นกระแส สร้างสถานการณ์ เพื่อที่จะทำลายความชอบธรรม ความน่าเชื่อถือของ คสช.ดังนั้นอาตมาประกาศเลยว่า พวกแกนนำ กปปส.ที่เงียบอยู่ ถ้าตราบใดที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมุ่งมั่นทำงานเพื่อชาติและประชาชน ก็พร้อมเชียร์และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เพราะฉะนั้น ให้พล.อ.ประยุทธ์ เข้าใจว่า ยังมีคนอีกหลายล้านคนสนับสนุนต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำงานให้สำเร็จ
‘พรชัย’1ใน14นศ.ถูกจับคาบ่อน
เว็บไซต์’ไทยอินโฟเน็ต’ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ 1 ใน 14 นักศึกษาที่ถูกจับกุมและคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ว่า “หลักฐาน1ใน14นักศึกษา เพิ่งโดนจับคาบ่อนย่านสุขุมวิท” โดยบุคคลดังกล่าวคือ นายพรชัย ยวนยี หรือ “แซม” โดยเป็น 1ใน 26ผู้ต้องหาที่ถูกจับคาบ่อนหรูในคอนโดมิเนียมภายในซอยสุขุมวิท24 เมื่อวันที่ 21มิถุนายนที่ผ่านมา สำหรับ นายพรชัย เป็นอดีตนิสิตนักศึกษาที่จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและเป็นอดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.)
ศาลจำคุก3เดือนปรับ1.5พันบ.
ทั้งนี้ พ.ต.ท.วิชัย ณรงค์ รอง ผกก.สส.สน.ทองหล่อ เปิดเผยว่า คดีจับกุมนักพนันในคอนโดมิเนียม จากการตรวจสอบรายชื่อภายหลังพบว่ามีชื่อ นายพรชัย ร่วมเล่นพนันอยู่ด้วย แต่พนักงานสอบสวนได้ส่งฟ้องคดีนี้ไปแล้ว ซึ่งศาลตัดสินลงโทษจำคุกผู้ต้องหาคนละ 3เดือนและปรับ 1,500บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 2ปี ส่วนรายละเอียดการตรวจสอบว่า ผู้ต้องหากระทำผิดเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.นั้น พนักงานสอบสวนอยู่ระหว่างพิจารณาว่า ศาลจะนำโทษจำคุก 3เดือน ที่รอลงอาญาไว้มาพิจารณารวมโทษความผิดดังกล่าวด้วยหรือไม่
เมียเผยแผนเรียนต่อตปท.ล่ม
มีรายงานว่า น.ส.ธีรพิมล เสรีรังสรรค์ หรือเอ ภรรยาของ นายพรชัย ได้เข้าเยี่ยมสามีที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เมื่อวันที่ 30มิถุนายน ขณะที่ช่วงเช้าวันที่ 1กรกฎาคม น.ส.ธีรพิมล ให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนถูกจับตนและนายพรชัย มีแผนจะไปเรียนต่อต่างประเทศ เพื่อฝึกทักษะด้านภาษา แต่ต้องล้มเลิกเพราะถูกจับเสียก่อน
กลุ่ม14นศ.ในเรือนจำเริ่มป่วย
ส่วนบรรยากาศที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ น.ส.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) กล่าวหลังเข้าเยี่ยมนักศึกษาที่ถูกคุมขังว่า นักศึกษาบางส่วนเริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพ มีอาการท้องเสียและเจอสภาพอากาศร้อน แต่ไม่อยากให้เป็นกังวลจนกระทบต่อการรวมตัวเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความเสมอภาค ส่วนข้อเสนอของอียูให้รัฐบาลไทยยุติดำเนินคดีนักศึกษาทั้งหมดเห็นว่า ไม่ได้สร้างแรงกดดันให้รัฐบาล เพราะท่าทีของรัฐในขณะนี้ ไม่ได้สนใจท่าทีของนานาชาติ
อาจารย์ผุดแผน3ข้อช่วยลูกศิษย์
นายวิโรจน์ อาลี รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มธ.ในฐานะหนึ่งในกลุ่มคณาจารย์ผู้ห่วงใยลูกศิษย์ที่ถูกขุมขัง กล่าวว่า พวกเรามีความห่วงใยต่อนักศึกษาที่ถูกคุมขัง จึงมานั่งคุยกันว่าในสภาพปัจจุบัน พวกเราจะทำอะไรได้บ้าง สุดท้ายได้สรุปแนวทางช่วยเหลือ 3ข้อ คือ 1.กลุ่มอาจารย์จะแวะเวียนไปให้กำลังในนักศึกษาในเรือนจำทุกวันจนกว่านักศึกษาจะถูกปล่อยตัว 2.จะพยายามสื่อสารกับสังคมว่า สิ่งที่นักศึกษาทำไม่ใช่สิ่งผิดและเรียกร้องให้ คสช.ปล่อยตัวอย่างไม่มีเงื่อนไขและ3.จะเปิดเวทีสาธารณะเพื่อให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องของประชาธิปไตยตามหลักการ 5.ข้อที่นักศึกษาที่เคยออกมาเรียกร้องในเรื่องประชาสังคมและเรื่องการจัดสรรทรัพยากร
ราชทัณฑ์พร้อมเปิดคุกให้เยี่ยม
ด้าน นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า ได้ทำหนังสือมายังเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เพื่อขอเยี่ยมและพูดคุยรับฟังข้อเท็จจริง ก่อนเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลกับ กสม.ก่อนรวบรวมเป็นรายงานเสนอไปยังรัฐบาลว่า กสม.มีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร
นายวิทยา สุริยะวงค์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึงกรณี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษย์ชนแห่งชาติ (กสม.) จะขออนุญาติเข้าพบนักศึกษากลุ่มประชาธิปไตยที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานจาก กสม.ว่า จะเข้ามาสังเกตการณ์วันใด แต่กรมราชทัณฑ์ไม่ขัดข้องในการให้กสม.เข้าพบกลุ่มนักศึกษา เนื่องจากกรมดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายทุกขั้นตอน การคุมขังก็เป็นไปตามคำสั่งศาล ขณะที่ผู้ต้องหาก็ไม่ยื่นขอประกันตัว ที่ผ่านมาเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและทัณฑสถานหญิงกลาง ได้คุมขังผู้ต้องขังตามระเบียบเรือนจำ ไม่มีการทำร้ายร่างกาย หรือละเมิดสิทธิใดๆ
จัดกิจกรรมขังตัวเองข้างมธ.
เวลา14.00น.ที่กำแพงประวัติศาสตร์ ข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ นักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย ได้จัดกิจกรรม”ปลดปล่อยพันธนาการ สู่จิตวิญญาณเสรี”โดยทำกรงขังจำลองขึ้นมาและเชิญชวนให้ประชาชนร่วมเข้านั่งในกรงขัง เพื่อแสดงเจตจำนงร่วมต่อสู้คู่ขนานไปกับนักศึกษาและประชาชน 14คน ที่ถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จากนั้นตำรวจได้ขอร้องให้ย้ายสถานที่จัดกิจกรรม เพราะกีดขวางทางเท้าและการจราจรไม่สะดวก นักศึกษาจึงย้ายไปจัดใน มธ.แต่โดยดี
สปช.ผวาซ้ำรอยตุลาฯวิปโยค
มีความเห็นจาก นายอุดม ทุมโฆษิต สปช. ด้านการปกครองท้องถิ่นและอาจารย์ประจำคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง การแสดงออกทางตรงจึงทำได้ยาก ซึ่งในมหาวิทยาลัยจึงมีคนอึดอัดจำนวนหนึ่ง แต่วันนี้มหาวิทยาลัยมีกระบวนการที่ซับซ้อน ทั้งบนดินและใต้ดิน ทั้งกลุ่มเคลื่อนไหวด้วยใจบริสุทธิ์ กับที่ฝักใฝ่การเมืองเอาตัวเองไปโยงการเมืองและเลือกข้างแล้วว่า จะอยู่สีใดสีหนึ่ง ส่วนที่หลายฝ่ายระบุจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวก็เป็นไปได้ รัฐบาลต้องระมัดระวังรอบคอบ อย่าไปด่วนกล่าวหาจนทำผิดซ้ำเหมือนอดีตบทเรียนเดือนตุลาฯ อย่าพึ่งไปบอกว่านักศึกษากลุ่มนี้ทำเพื่อใคร หรือมีใจไม่บริสุทธิ์ ตราบใดที่ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัด เพราะถ้ายิ่งไปมองว่าเขามีใจไม่บริสุทธิ์ตั้งแต่แรก จะยิ่งผลักให้คนยืนอยู่ตรงกลางในสังคมต้องเลือกข้าง
‘ปึ้ง’อ้างต้องคิดถึงสังคมโลก
ขณะที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีต รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กรณีองค์กรต่างประเทศเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติดำเนินคดี 14นักศึกษา ว่า พล.อ.ประยุทธ์ พูดชัดเจนว่า ต้องยึดกฎหมายไทย แต่การที่ต่างชาติซึ่งเรามีพันธกรณีภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในฐานะภาคีสมาชิกของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ออกแถลงการณ์เตือน และประเทศต่างๆก็จับตาในเรื่องนี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสังคมโลกให้ความสำคัญเรื่องการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างยิ่ง อีกทั้งการละเมิดสิทธิยังเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆบนโลก จะคิดแต่เป็นเรื่องภายใน กฎหมายไทยอย่างเดียวไม่ได้ การจะดำเนินการอะไรก็อยากให้ระวังและคิดให้รอบคอบ
ครูหยุยชี้ยึดกม.ไม่มีบานปลาย
ด้าน นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีนักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ว่า กฎหมายก็คือกฎหมาย ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายออกมาระบุจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวนั้น ต้องคิดและมองในอีกมุมด้วยว่า นักศึกษาที่ถูกจับมีสิทธิยื่นประกันตัวได้ แต่ทำไมไม่ทำ เมื่อพวกเขาไม่ประกันตัวก็ต้องถูกกักตัว ซึ่งกฎหมายมีอยู่ก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เมื่อถามว่า กรณีนี้จะจุดติดเป็นกระแสหรือไม่ นายวัลลภ กล่าวว่า ไม่ ถ้ายึดกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
อัยการค้านยกร่างการเมืองแทรก
ที่รัฐสภา นางชนิญญา ชัยสุวรรณ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปกครอง เข้ายื่นหนังสือพร้อมรายชื่ออัยการทั่วประเทศถึง นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านเจ้าหน้าที่รัฐสภา เพื่อขอให้ทบทวนการปฏิรูปโครงสร้างคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.)
นางชนิญญา กล่าวว่า จากร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวนั้นหมายความว่า ฝ่ายการเมืองสามารถแทรกแซงได้ทุกอย่าง ทั้งแต่งตั้งโยกย้ายอัยการ หรือแม้แต่แต่งตั้งอัยการสูงสุด(อสส.) เพราะตำแหน่งอัยการสูงสุดนั้นก็จะต้องได้รับการคัดเลือกจาก ก.อ.เช่นกัน หากมีประธาน ก.อ.มาจากคนนอกก็สามารถตั้งใครเป็นอัยการสูงสุดก็ได้ ถ้ามีโอกาสเข้าชี้แจงต่อ กมธ.ยกร่างฯตนก็ยินดีเข้าชี้แจง

--------------------------------------
ที่มา http://www.naewna.com/politic/166425


0 comments:

Post a Comment

Twitter Delicious Facebook Digg Favorites More