... ...
... ...

Wednesday, July 1, 2015

คำ ผกา วิเคราะห์ เหตุดาราบนเรือยอชต์ถูกกระหน่ำตีจากชนชั้นกลางเก่า-ชนชั้นนำชายขอบ

วันที่ 02 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 เวลา 06:30:00 น.



คำ ผกา

จำแลงแปลงกาย

มติชนสุดสัปดาห์ 26 มิ.ย.- 2 ก.ค. 2558

ข่าวที่มักจะโดนเหยียดหยามว่าเป็นข่าวไร้ค่า ไร้สาระ คือข่าวดารา คนดัง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ใช่ข่าวดาราคนดังที่ออกไปทำอะไรดีๆ แก่สังคม เช่นข่าว แองเจลีน่า โจลี ไปเยี่ยมศูนย์ผู้ลี้ภัย มักจะถูกมองว่าเป็นข่าว "ไร้สาระ" หาคุณค่าอะไรไม่ได้

และเหล่าผู้มีปัญญาทั้งหลายก็มักจะสงสัย เข้าใจไม่ได้ว่าทำไมเราต้องให้พื้นที่ข่าวกับข่าวดาราแต่งงาน ดาราลดความอ้วน ดารามีกล้ามท้อง ดาราซื้อบ้าน ดาราบวช ฯลฯ มากกว่าดาราเยี่ยมศูนย์อพยพ

แต่ในท่ามกลางความสงสัย ความเป็นจริงก็ยังปรากฏตัวของมันออกมาอยู่วันยังค่ำ

นั่นคือ ข่าวที่หาแก่นสาร คุณค่าใดๆ ไม่ได้นี่แหละ ที่มีคนคลิกเข้าไปอ่านมากกว่าข่าวอื่นๆ อยู่ร่ำไป

และแน่นอนว่า หนึ่งในคนที่ชอบไปคลิกข่าว "ไร้สาระ" แต่บันเทิงอารมณ์นี้ก็มีฉันอยู่คนหนึ่งด้วย



ล่าสุดกับ "ดราม่า" รายวันหลายตอนจบเรื่อง ดารา, เรือยอชต์, ภาพส่วนตัวถูกปล่อยออกไปในสาธารณะ ฯลฯ ก็เป็นข่าวที่ช่วยดึงเราออกไปจากความกังวลเรื่อง ร่างรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้ง การทำประชามติ สภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง และอื่นๆ ไปได้บ้าง

ตัวฉันเอง ไม่ได้สนใจว่าใครถูกใครผิด หรือข้อเท็จจริงทั้งหมดของเรื่องนี้เป็นอย่างไร เพราะแทบไม่มีอะไรเกี่ยวกับตัวเราเลยโดยสิ้นเชิง

แต่ที่สนใจมากคือคอมเมนต์ของคนอ่านที่อยู่ใต้ข่าว และการทำภาพล้อเลียนดาราที่ตกเป็นข่าว

คอมเมนต์ที่แทบจะทำให้ฉันกินไม่ได้นอนไม่หลับไปหลายวันเพราะคิดเรื่องนี้ไม่ตกคือสัดส่วนของการประเมิน "การกระทำ" ของดาราคนนั้นว่า ผิดหรือถูก

กับคอมเมนต์ที่โยงการกระทำและวาจาอัน "ไม่เหมาะสม" ของเธอเข้ากับ "ชาติกำเนิด" และ "ชนชั้น" ในทำนองที่ว่า-กาก็คือกา หงส์ก็คือหงส์ ต่อให้จับพลัดจับผลูร่ำรวย มีเงินมีทองได้นอนเรือยอชต์ ใช้ของแพง ก็ไม่ได้ทำให้กลายเป็น "ผู้ดี" จริงๆ ขึ้นมาได้

บ้างก็ว่า-สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล

บ้างก็บอกว่าเป็นเพราะ-ไม่มีการศึกษา บางคนถึงบอกว่า สามีผู้ร่ำรวยของเธอน่าจะเอาเงินไปส่งเสียเธอให้เรียนจบปริญญาตรีเสียก่อนจะดีไหม?



อ่านแล้วทำให้ดวงตาเห็นธรรมว่า สังคมไทยไม่ได้เดินไปไหนไกลเลยจากเมื่อครั้งมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475

เพราะหนึ่งในหลักการของคณะผู้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองคือ อยากเปลี่ยนระบบการให้คุณค่าของคนจาก ชาติวุฒิ หรือ ชาติกำเนิด มาที่ คุณวุฒิ หรือ คุณสมบัติของคนนั้นๆ แทน (คุณวุฒิในที่นี้ไม่ได้หมายถึงวุฒิการศึกษาเท่านั้น แต่หมายถึงความรู้ ความสามารถโดยไม่จำเป็นต้องมีประกาศนียบัตรจากสถาบันใดๆ มารับรอง)

ทว่า ผ่านไป 80 ปี คนไทยยังไม่อาจจะเป็นปฏิปักษ์ของสุภาษิต คำพังเพยของโลกยุคเก่าที่ตอกย้ำว่า "ชาติกำเนิด" มีส่วนในการกำหนดคุณงามความดีของมนุษย์ การวิจารณ์ กิริยา มารยาท วาจา ภาษา ของใครสักคน จึงมักถูกวิจารณ์จากแง่มุมของกำพืด มากกว่าแง่มุมอื่นๆ เช่น

ถ้าลูกชนชั้นต่ำพูดจาหยาบคาย ไม่เหมาะสม เราก็พร้อมจะบอกว่า "สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล" คำพูดคำจาบอกกำพืดไพร่ ไร้การศึกษา

ทีนี้ถ้าเจอลูกผู้ดีพูดคำหยาบ เราก็พร้อมจะวิจารณ์ว่า "พูดจาวางตัวไม่สมกับที่เป็นลูกผู้ลากมากดี"

จะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม เราเชื่ออย่างปราศจากข้อกังขาไปแล้วว่า ความสุภาพเรียบร้อยนั้นเป็นสมบัติที่ติดตัวมากับ "ชนชั้น" และ "ชาติตระกูล"

สาหัสกว่านั้นหากเราต้องไปกับ "ผู้ดี" ตัวจริงเสียงจริง ที่พูดจาหยาบคาย สบถสาบานตลอดเวลา เราก็ยังสามารถที่จะนิยมยกย่องได้อีกว่า "ต๊าย ตาย น่ารักจังเลย ขนาดเป็นผู้ลากมากดีขนาดนี้ ท่านยังพูดจาติดดิน ไม่ถือเนื้อถือตัว"

หรือ "โอ๊ย ท่านน่ารักมากเลย เห็นท่านเป็นลูกผู้ลากมากดี แต่ท่านคุยสนุก สนุก มีเหี้ยห่าสารพัดสัตว์ออกมาตลอดเวลาเลย มันส์มาก"



เมื่อเป็นเช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมวาทกรรมของนักต่อต้านประชาธิปไตยที่ตัดสินคนจาก "ชนชั้น", "การศึกษา" และ "ชาติกำเนิด" จึงสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เช่น นักกฎหมายและนักออกแบบรัฐธรรมนูญจำนวนหนึ่งอธิบายแก่สังคมไทยว่า เหตุที่ประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะมีประชาธิปไตย ก็เพราะเรายังมี "ชนชั้นต่ำ-ล่าง" ที่ยังไร้การศึกษา ที่ยังไม่รู้แม้กระทั่งการวางตัว การควบคุมจริตจก้านให้ดีงาม ที่ยังสามารถเอาอะไรๆ ไปแลกมาซึ่งวัตถุบำรุงบำเรอความสบายในชีวิต (นักการเมืองไพร่ขายตัว, ราษฎรไพร่ขายเสียง, หญิงไพร่ขายตัวแต่งงานกับชายแก่หวังเงิน เป็นต้น)

วาทกรรมนี้มันจะยังคงประสิทธิภาพของมันเรื่อยไปตราบเท่าที่เรายังพร้อมจะตัดสินคนจาก "กำพืด" และ "การศึกษา" ของพวกเขา

เช่น เราอาจจะลืมไปว่า มีคนอีกจำนวนมาก และอาจเป็นคนที่มีกำพืดดีมากๆ มีการศึกษาที่สูงมากๆ แต่ที่มีวาจาดูหมิ่น เหยียดหยาม ดูแคลนผู้คนได้รุนแรงกว่าดาราคนนั้น

มีคนกำพืดดีอีกจำนวนมาก มีการศึกษาสูงๆ อีกจำนวนมาก ที่ก็ล้วนแต่เลือกคู่ด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง (ฉันยังไม่เห็นลูกคนมั่งคั่งที่ไหนหนีตามคนงานก่อสร้างไปด้วยแรงแห่งรักเลย)

มีคนที่กำพืดดีมากๆ การศึกษาสูงมากๆ อีกตั้งเยอะในโลกและในประเทศนี้ที่เที่ยวใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น โกหก หลอกลวง ทำให้ผู้คนบาดเจ็บ ล้มตาย และไม่เคยออกมาขอโทษใครก็ถมเถไปในโลกใบนี้

เพราะฉะนั้น มันจึงจำเป็นมากสำหรับเรา ที่ก่อนจะตำหนิใคร เราต้องตั้งสติให้มั่นคง ไม่ปล่อยให้สิ่งที่เป็น "สามัญสำนึก" ที่โครงสร้างทางสังคมปลูกฝังมาไว้ใน "สำนึก" ของเราทุกเมื่อเชื่อวัน ทำงานโดยปราศจากการตรวจสอบ เช่น "สามัญสำนึก" ที่สังคมไทยปลูกฝังไว้ในสำนึกของเรา พร้อมจะผลักให้เราตัดสินใครสักคนจาก "กำพืด" ของเขาเป็นเบื้องต้น

ยังไม่นับว่าทั้งสิ่งที่เป็น "กำพืด" และ "ชนชั้น" (หรือแม้กระทั่ง เชื้อชาติ สีผิว) ยังเป็นสิ่งที่ "จำแลง แปลงร่าง" ได้ในฐานะที่เป็น "การแสดง" อย่างหนึ่งด้วย

หาไม่แล้ว อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ คงไม่ประดิษฐ์คำว่า "ชนชั้นนำชายขอบ" ออกมาให้เราได้ใช้



ทั้งนี้เพราะ กำพืด หรือ ชนชั้นนั้น เป็นสิ่ง ปรับ และขยับได้

จะปรับและขยับอย่างไร ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของกติกาในสังคมนั้นๆ

บางสังคมก็ปรับและขยับยากมาก เช่น สังคมอินเดียที่มีเรื่องวรรณะมากำกับอยู่ และแม้จะมีการศึกษาสูงแค่ไหนก็ไม่อาจหนีออกไปจาก "วรรณะ" ที่ติดตัวมาแต่กำเนิดได้เลย

สังคมอเมริกันที่ว่า "ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงหนทางแห่งการแสวงหาความสุข" ดังที่ปรากฏในคำประกาศอิสรภาพนั้นก็ยังมีเรื่องเชื้อชาติและสีผิว ที่ยังเป็นอุปสรรคใหญ่หลวง

กระนั้น ก็พบกรณีการ "ปลอม" หรือ "แปลง" สีผิวกันเนืองๆ ทั้งคนผิวสีลูกผสมที่จำแลงและ perform ตนเองเป็นคนผิวขาวเพื่อเข้าถึงอภิสิทธิ์บางอย่าง

หรือคนขาวจำนวนไม่น้อยที่สมาทานวัฒนธรรมของคนผิวสีมาไว้กับตนเองเพื่อประกาศความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการร่วมทุกข์ทางอุดมการณ์ของผู้ที่ถูกกดขี่

หรือแม้กระทั่งในการกลับกันที่มี "คนขาว" จำแลงร่างเป็นคนผิวสี (ดัดผมแอฟโฟร, เข้าร้านเสริมสวยทำผิวสีแทน) และบอกใครต่อใครว่าเธอเป็นคนดำเพื่อเข้าถึง "ข้อยกเว้นหรืออภิสิทธิ์" บางอย่างที่รัฐมอบให้แก่คนผิวสี

สังคมไทยนั้นจะว่าไปแล้วเป็นสังคมที่เปิดให้มีการขยับขยายทางชนชั้นได้อย่างค่อนข้างยืดหยุ่น

เพียงแต่เราจะต้องไขรหัสลับของการขยับนี้ออกมาให้ได้

ก่อนการกำเนิดของรัฐไทยสมัยใหม่ คนจีน คนแขก คนมอญ สามารถขยับสถานะทางสังคมของตนเองได้ ด้วยทุนทางเศรษฐกิจเป็นเบื้องต้น ก่อนจะหาทางประมูลงานของรัฐ เช่น ประมูลเป็นเจ้าภาษีนายอากร ประมูลผูกขาดธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งให้จงได้ เช่น ธุรกิจหวย บ่อนเบี้ย ต่างๆ

จากนั้น มีภรรยาหลายๆ คนเพื่อมีตัวเลือกของคนรุ่นลูก ที่สามารถนำไปจับคู่กับ "ชนชั้นสูง" หรือ "ชนชั้นนำ" ทางสังคมได้

จึงเกิดการแต่งงานที่บอกว่า "เจ้ามีสินพี่มีศักดิ์" เพียงหนึ่งหรือสองเจเนอเรชั่น "ผู้อพยพ" ก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นชนชั้นนำ และถือว่าเป็นชนชั้นนำ "แท้" ในยุคก่อตั้งอาณาจักร

จำเนียรกาลผ่านไปหลังกำเนิดรัฐชาติในโมเดลของรัฐชาติศตวรรษที่ 19 มีการขยับตัวทางชนชั้นอีก นั่นคือ การเกิดขึ้นของชนชั้นกลาง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มข้าราชการ ปัญญาชน กลุ่มวิชาชีพต่างๆ เช่น หมอ ทนายความ พ่อค้า

เป็นที่รู้กันดีว่า ความเข้มแข็งของชนชั้นจะมีขึ้นได้ต้องสามารถลงหลักปักหมุดวัฒนธรรมแห่งชนชั้นของตนไปให้ได้

แต่ดูเหมือนว่า ชนชั้นกลางไทยนั้น มิใช่ชนชั้นที่เติบโตมาด้วยลำแข้งของตนเอง แต่เป็นชนชั้นที่งอกมาจากระบบอุปถัมป์ค้ำจุน ยิ่งต้องพูดถึงชนชั้นกลางที่มาจากระบบราชการ ดังนั้น ชนชั้นกลางไทยจึงไม่มีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง แต่ใช้วิธีเฝ้าลอกเลียนแบบวิถีปฏิบัติของชนชั้นสูง

มีบ้างที่พยายามจะฝ่าวงล้อมนี้ออกไปด้วยการพยายามไปเลียนแบบวัตรปฏิบัติอย่างคนตะวันตก กล่าวอีกอย่างหนึ่งได้ว่า วัฒนธรรมของชนชั้นกลางไทย (และในอีกหลายแห่งในโลกนี้) คือ การชะเง้อดูคนชั้นสูงและเฝ้าฝันอยากจะเป็นอย่างนั้นบ้าง

และหากเป็นไปได้ก็ฝันอยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นสูงเข้าสักวัน (แต่ไม่ได้แปลว่า ไม่มีชนชั้นกลางที่ไม่เป็นเช่นนั้น-เราจึงจะเห็นการปะทะกันทางความคิดของชนชั้นกลางสองกลุ่มนี้อยู่เนืองๆ)

และนี่คือที่มาของคำว่า "ชนชั้นนำชายขอบ" นั่นคือ เรามักเห็นภาพชนชั้นกลางที่ห้อยต่องแต่ง ตะเกียกตะกายโหนอุดมการณ์บางอย่างเพื่อส่งตัวเองขึ้นไปเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำที่อยู่เหนือตนเองขึ้นไป



การขยับขยาย เปลี่ยนผ่าน ทางชนชั้นของสังคมไทย ง่ายกว่าของอินเดียมาก

เพราะเราไม่มีการตีตราทาง "วรรณะ"

คนในสังคมไทยสามารถเลื่อนสถานะทางชนชั้นของตนเองได้ผ่านการศึกษา ผ่านการส่งตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการให้ได้ ผ่านการสะสมทุนแล้วส่งลูกหลานให้ได้เรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนมหาวิทยาลัยในสถานศึกษาเดียวกันกับชนชั้นสูง เพื่อหวังผลทางการแต่งงาน เกี่ยวดองหรือทำธุรกิจร่วมกันในอนาคต

ผ่านการบวชเรียน ผ่านเวทีประกวดนางงาม ผ่านการสอบชิงทุนรัฐบาลไปเรียนต่างประเทศ

ผ่านการเป็นดารา นักแสดง แล้วได้ไปแต่งงานกับชนชั้นนำหรือนักการเมือง

หรือแม้กระทั่งผ่านเวทีแห่งการเป็นศิลปิน กวี นักเขียน แล้วพยายามผลิตผลงานตอบสนองอุดมการณ์ของชนชั้นนำเพื่อโหนตัวเองเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลนั้นให้จงได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ น่าจะเป็นความโชคดีของคนไทยที่เอาเข้าจริงๆ แล้ว "กำพืด" หรือ "ชาติกำเนิด" นั้นไม่ได้มีผลต่อการถูกดูดดึงเข้าไปสู่จักรวาลแห่งการเป็นชนชั้นนำของสังคม เท่ากับความสามารถในการอ่านรหัสทางวัฒนธรรมให้แตกฉาน แล้วสามารถจำแลงร่าง สมาทานวัฒนธรรมนั้นเข้ามาในกายและใจตนให้สำเร็จ

อาจเริ่มตั้งแต่ การแต่งตัว เสื้อผ้า ทรงผม สีผิว กิริยามารยาท การใช้ภาษา การตกแต่งที่อยู่อาศัย

หญิงชนชั้นล่างที่สามารถพาตนเข้าไปแต่งงานกับมหาเศรษฐีหรือนักการเมืองได้ ก็ต้องไปเรียนรู้รหัสของเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย การกินการอยู่ คนที่จริงจังกับเรื่องนี้มาก อาจถึงกับต้องเอาตัวเองไปเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะ เรียนรู้เรื่องโบราณคดี ฝึกดูของเก่า เข้าพิพิธภัณฑ์ (ราษฎรหญิงจำนวนมากเข้าใจผิดว่า การเอาเงินสามีไปซื้อกระเป๋าใบละล้านบาทหรือมากกว่านั้นหลายๆ ใบมาถือนั้นไม่ได้ช่วยให้การจำแลงร่างเป็นชนชั้นนำสำเร็จ) นั่งท่องชื่อผลงาน ชื่อศิลปินระดับโลกทั้งของคลาสสิค ของร่วมสมัย ต้องไปหัดฟัง เรียนรู้จักดนตรีคลาสสิคต่างๆ นานา

เผลอๆ อาจจะต้องไปอบรมคอร์สอัญมณีศาสตร์ เรียนขี่ม้า ค่อยขยับมาทำตัวเป็นนักสะสมวัตถุอะไรสักอย่างเพื่อรับประกันความละเอียดลึกซึ้งในโลกแห่งความงาม และศิลปวิทยาการ ก่อนจะขยับมาอีกขั้นด้วยการขึ้นมาเป็นนักทำงานเพื่อช่วยเหลือสังคมและผู้ยากไร้ ก่อตั้งมูลนิธิ ระดมทุนให้กับโครงการที่จะสามารถสร้างผลสะเทือนต่อการรับรู้ของสังคมได้

นั่นแปลว่ามันต้องการความเข้าใจในสังคมนั้นๆ

เช่น หากเราอยู่ในสังคมที่บ้ากีฬา เราก็อาจต้องระดมทุนหรือไปอุทิศตนเพื่อทีมกีฬา อยู่ในสังคมที่บ้าเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ต้องไปจับประเด็นสิ่งแวดล้อม



การจำแลงร่างและความพยายามจะขยับสถานะทางชนชั้นของตนเองนั้นไม่ใช่เรื่องผิด และไม่ใช่อาชญากรรม

ยิ่งไปกว่านั้นมันน่าจะเป็นจุดหมายสูงสุดของระบอบทุนนิยมเสรีประชาธิปไตยเสียด้วยซ้ำที่จะต้องการทำให้ทุกคนหลุดพ้นจากสภาวะทุกข์ยากของการเป็นชนชั้นล่างหรือชนชั้นแรงงาน

ทว่า สิ่งที่น่าจับตามองคือ การขยับหรือเลื่อนสถาะทางเศรษฐกิจในบางสังคมมันดำเนินไปพร้อมกับการสลัด ลืม และทรยศต่อกำพืดเก่าของตนเอง

เมื่อเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจได้ ก็พยายามจะจำแลงร่างเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบเก่าและเกิดความรู้สึกกีดกัน หวงแหน ไม่อยากให้ใครได้เลื่อนขั้นเข้ามาแข่งขันกับตนได้อีก เพราะเกรงว่าอภิสิทธิ์ที่ได้รับมานั้นจะไม่กลายเป็นอภิสิทธิ์อีกต่อไป ในเมื่อเป็นสิ่งที่ใครต่อใครก็เข้าถึงได้ไปเสียหมดแล้ว

"ชนชั้นกลางเก่า" เหล่านี้จึงหวาดผวากับการขยายตัวของชนชั้นกลางใหม่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางใหม่ที่ไม่สนใจ "รหัสลับทางวัฒนธรรม" ชุดเดิมที่ชนชั้นกลางเก่าพยายามเคล้าคลึงเอาไว้และเคลมว่าเป็นสมบัติของตน

แต่ที่ยอกย้อนกว่านั้นคือ ชนชั้นกลางใหม่ที่ถูกรังเกียจโดยชนชั้นกลางเก่าหรือชนชั้นนำชายขอบจำนวนไม่น้อย นอกจากจะเข้าไม่ถึง ผ่านรหัสลับทางวัฒนธรรมเหล่านั้นก็ไม่แตก แต่ดันไปใช้ "วาทกรรม" ที่พวกเขาใช้กีดกันและดูถูกตนออกไปนั่นแหละ มาดูถูกคนอื่นเข้าอีกชั้น และหลงผิดนึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นกลางเก่าไปแล้ว

ยอกย้อนไปอีกหลายตลบ เมื่อชนชั้นกลางใหม่ หันไปด่าคนแบบนั้นด้วยวาทกรรมว่าด้วย "ชาติกำเนิด" หรือ "กำพืด" เข้าไปอีกขั้น

นั่นคือเหตุที่ทำเอาฉันมึนงงไปหลายวันนั่นเอง




******************
ที่มา:http://www.khonthaiuk.eu/forum/index.php?topic=31125.0


0 comments:

Post a Comment

Twitter Delicious Facebook Digg Favorites More